Accessibility Tools

กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์
Information and Public Relations Division
image

กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์

ฎีกา InTrend ep.18 ทำประกันชีวิตแต่ไม่บอกว่าเคยตรวจพบมะเร็ง จะได้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่image

ฎีกา InTrend – ทำประกันชีวิตแต่ไม่บอกว่าเคยตรวจพบมะเร็ง จะได้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่

สรวิศ ลิมปรังษี

                การที่เราทำประกันชีวิตก็ด้วยความมุ่งหมายที่จะได้รับความคุ้มครองและได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในยามที่เกิดเหตุตามที่ทำประกันภัยไว้ แต่กรณีที่มักเกิดขึ้นอยู่เสมอคือการที่ผู้เอาประกันภัยไม่ได้เปิดเผยข้อมูลให้ครบถ้วน ทำให้มีปัญหาว่ากรณีเช่นนี้จะส่งผลต่อสัญญาประกันภัยที่ทำไว้ รวมถึงสิทธิที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ เพียงใด

          จันทราได้เคยไปตรวจรักษาที่โรงพยาลบาลแห่งหนึ่งเมื่อสามปีที่แล้ว เนื่องจากมีอาการผิดปกติบริเวณหูด้านขวา แพทย์ผู้ตรวจตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะเป็นมะเร็งผิวหนัง และได้นัดจันทราให้ไปทำการผ่าตัดในอีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา แต่เมื่อถึงวันนัดจันทราไม่ได้พบแพทย์ตามที่นัดไว้ ในปีถัดมา จันทราได้ขอทำประกันชีวิตกับบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่งพร้อมสัญญาพิเศษเพิ่มเติม โดยในการขอทำประกัน จันทราได้ตอบคำถามสุขภาพตามแบบที่บริษัทประกันชีวิตกำหนดในข้อที่ถามว่า “เคยได้รับการวินิจฉัย หรือรับการรักษา หรือตั้งข้อสังเกตโดยแพทย์ว่าป่วยเป็นโรคมะเร็งหรือไม่” จันทราระบุว่าไม่เคยตรวจพบโรคดังกล่าว ต่อมาเมื่อปีที่แล้วจันทราได้เข้ารับการรักษาผ่าตัดก้อนเนื้อที่หลังหูข้างขวาและได้ทำเรื่องขอเบิกค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจากบริษัทประกันชีวิต บริษัทได้ลองตรวจสอบประวัติการรักษาของจันทราจึงพบว่าเคยได้รับการตรวจและแพทย์ได้วินิจฉัยไว้ดังกล่าว บริษัทจึงได้ส่งหนังสือบอกกล่าวเพื่อบอกล้างสัญญาประกันชีวิตที่จันทราทำไว้และไม่ยอมจ่ายค่าสินไหมทดแทน จันทราจึงได้ฟ้องบริษัทประกันชีวิตเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันชีวิตที่เคยทำไว้

          ในการทำประกันชีวิตนั้น บริษัทรับประกันภัยจะตกลงทำสัญญาประกันชีวิตหรือไม่ หรือจะเรียกค่าเบี้ยประกันภัยมากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับ “ความเสี่ยง” ที่ผู้เอาประกันภัยแต่ละคนมีอยู่ว่ามีมากน้อยเพียงใด ถ้ามีความเสี่ยงมากก็อาจจะเรียกเบี้ยประกันภัยให้สูงขึ้น หรืออาจจะไม่ยอมรับประกันเลยหากความเสี่ยงมากจนไม่คุ้มกับค่าเบี้ยประกัน แต่ความเสี่ยงจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับข้อมูลสุขภาพที่ผู้เอาประกันภัยให้แก่บริษัทรับประกันภัย เนื่องจากโดยสภาพบริษัทไม่สามารถให้ผู้เอาประกันภัยแต่ละคนตรวจสุขภาพก่อนทำสัญญาได้ เพราะจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายจำนวนมาก โดยที่สำหรับผู้เอาประกันภัยส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด ดังนั้น การพิจารณาจึงอาศัยข้อมูลที่ผู้เอาประกันภัยให้ไว้เป็นสำคัญ

          ลักษณะดังกล่าวของสัญญาประกันภัยที่อาศัยการให้ข้อมูลที่ถูกต้องนี้จึงทำให้สัญญาประกันภัยถือเป็น “สัญญาที่ต้องการความสุจริตและความไว้วางใจ” ระหว่างคู่สัญญาเป็นสำคัญ ผลของการไม่เปิดเผยข้อมูลที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะ “ข้อมูลที่อาจเป็นเหตุจูงใจให้ผู้รับประกันภัยเรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่ทำสัญญา” คือจะทำให้สัญญาประกันภัยนั้นตกเป็น “โมฆียะ” ซึ่งจะทำให้บริษัทรับประกันภัยมีสิทธิที่จะบอกล้างให้สัญญาประกันภัยนั้นให้ตกเป็นโมฆะหรือเสียเปล่าไปทั้งหมดได้

                ในกรณีของจันทรา ปรากฏว่าแพทย์ได้เคยตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนแล้วว่าจันทราน่าจะเป็นมะเร็ง แม้จันทราจะไม่ได้ไปรับการรักษาตามที่กำหนดก็ตาม และยังมีความไม่แน่นอนอยู่ว่าความจริงแล้วอาการของจันทราจะเป็นมะเร็งจริง ๆ หรือไม่ หรือเป็นมะเร็งชนิดใดกันแน่ที่จะมีอันตรายถึงขนาดเป็นอันตรายต่อชีวิตหรือไม่ก็ตาม เพราะการตรวจให้ได้ผลชัดเจนขนาดนั้นอาจต้องมีกระบวนการและขั้นตอนที่ต้องทำเพิ่มเติม แต่การที่แพทย์ตั้งข้อสังเกตไว้ก็เท่ากับว่าจันทราเองรับรู้อยู่แล้วว่าตนมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งสูง จะมากจะน้อยจันทราจึงควรต้องบอกข้อมูลนี้ให้บริษัทประกันทราบ ส่วนเมื่อแจ้งแล้วบริษัทประกันจะทำอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เมื่อจันทราไม่ได้แจ้งข้อมูลสำคัญนี้ให้บริษัทประกันทราบ จึงทำให้สัญญาประกันชีวิตระหว่างจันทรากับบริษัทประกันชีวิตตกเป็น “โมฆียะ” ดังที่ได้กล่าวไว้

เมื่อบริษัทประกันได้ใช้สิทธิ “บอกล้าง” ภายใน 1 เดือนนับแต่ทราบมูลอันจะบอกล้างได้ หรือทราบข้อมูลว่าแพทย์เคยตรวจและตั้งข้อสังเกตว่าจันทราเป็นมะเร็ง สัญญาประกันชีวิตนี้จึงตกเป็นโมฆะเสียเปล่ามาแต่ต้น จันทราจึงคงมีสิทธิได้รับค่าเบี้ยประกันภัยที่จ่ายไปคืน แต่ไม่มีสิทธิได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญา

          กรณีของจันทรานี้อาจจะเห็นได้ชัดเจนว่าโรคที่ปกปิดไว้กับโรคที่มาตรวจรักษาภายหลังและเป็นเหตุของการขอการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นโรคเดียวกัน แต่ผลของการปกปิดข้อมูลที่สำคัญนี้มีมากกว่านั้น แม้แต่ว่าสุดท้ายผู้เอาประกันเสียชีวิตหรือประสบเหตุเป็นโรคอย่างอื่นนอกจากที่ปกปิดไว้ก็ตาม แต่ผลของการที่สัญญาเป็นโมฆียะนี้เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่มีการเข้าทำสัญญาโดยปกปิดข้อมูลสำคัญ ทำให้บริษัทประกันจึงอาจใช้สิทธิบอกล้างสัญญาได้เมื่อทราบข้อมูลที่ปกปิดไว้

          การที่เราทำสัญญาประกันชีวิตก็คงหวังได้รับความคุ้มครองตามที่ตกลงและได้เสียค่าเบี้ยประกันไว้ แต่ขณะเดียวกันการเข้าทำสัญญาก็คงต้องทำด้วยความสุจริตด้วยกันทุกฝ่าย หากมีข้อมูลหรือข้อเท็จจริงใดที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ปรากฏในแบบคำถามที่บริษัทประกันต้องการรู้ก็ควรต้องบอกไปตามความเป็นจริง ถ้าทำแบบนี้แล้วก็คงไม่ต้องห่วงว่าสัญญาจะมีปัญหาและทำให้ไม่ได้รับความคุ้มครองอย่างที่ต้องการ

 

(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 71/2563)

 

ฎีกา InTrend ep.18 ทำประกันชีวิตแต่ไม่บอกว่าเคยตรวจพบมะเร็ง จะได้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่

The Host : กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม

Guest Host :  สรวิศ  ลิมปรังษี

ที่ปรึกษา :  สรวิศ  ลิมปรังษี, สุริยัณห์ หงษ์วิไล, จีรวรรณ  เจริญยศ
 
Show Creator : นันทวัลย์  นุชนนทรี, ศณิฏา  จารุภุมมิก
Episode Producer & Editor  : ศณิฏา  จารุภุมมิก, ปนัสยา ชื่นอุระ
Sound Designer & Engineer : กฤตภาส  ทองแจ้ง, กิติชัย โล่สุวรรณ
Coordinator & Admin : สุภาวัชร์  ดลมินทร์, โสรัตน์  ไวศยดำรง
Art Director  : สุภาวัชร์  ดลมินทร์, ปันจารีณ์ สุวรรณโภชน์ ทศพร  ศิลาบำเพ็ญ
Webmaster  : ผุสชา  เรืองกูล, วชิระ  โรจน์สุธีวัฒน์


image รูปภาพ
image

image เอกสารแนบ