
กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์
ช่องทางอื่นๆ
Soundcloud >> https://soundcloud.com/cojpodcast
Spotify >> https://open.spotify.com/show/043Kat8AR01BDbVRkfg2MK?si=bd2fc097ff8c4d6c
Google Podcast >> https://podcasts.google.com/feed/aHR0cHM6Ly9mZWVkcy5zb3VuZGNsb3VkLmNvbS91c2Vycy9zb3VuZGNsb3VkOnVzZXJzOjgzOTA5NzU3Ny9zb3VuZHMucnNz
Apple Podcast >> https://podcasts.apple.com/us/podcast/coj-podcast/id1522616583
ฎีกา InTrend – ส่งสัญญากู้ยืมไปทางอีเมลถือเป็นหลักฐานเป็นหนังสือใช้ฟ้องร้องได้หรือไม่
สรวิศ ลิมปรังษี
การทำสัญญากู้ยืมตามกฎหมายกำหนดให้ต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้กู้ยืมจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้หากจำนวนเงินที่กู้ยืมกันนั้นเกินสองพันบาท แต่ในปัจจุบันการติดต่อสื่อสารมีการใช้ช่องทางต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและทำให้การติดต่อระหว่างกันทำได้ง่ายขึ้น กรณีที่จะกล่าวถึงในตอนนี้จะเป็นปัญหากรณีที่มีการกู้ยืมเงินกันโดยทำเป็นสัญญาแล้วส่งให้ผู้ให้กู้ทางอีเมลจะถือว่าเป็นหลักฐานเป็นหนังสือที่ใช้ฟ้องร้องบังคับคดีได้หรือไม่
นายมีนาต้องการใช้เงินเป็นค่าเล่าเรียนของลูก แต่เนื่องจากค่าเล่าเรียนหลักสูตรที่ลูกของนายมีนาเรียนอยู่มีจำนวนสูงถึง 300,000 บาท แต่ในขณะนั้นนายมีนาไม่มีเงินสดอยู่เพราะธุรกิจขาดสภาพคล่อง นายมีนาจึงไปติดต่อนายเมษาเพื่อขอยืมเงินจากนายเมษา
นายเมษาเห็นว่านายมีนาเดือดร้อนจึงได้ตกลงให้นายมีนายืมเงิน นายมีนาจึงส่งคนไปรับเงินสดมาจากนายเมษา หลังจากนั้นนายเมษาก็ส่งสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 300,000 บาทไปให้นายมีนาทางอีเมล เมื่อนายมีนาได้รับแล้วก็พิมพ์สัญญาดังกล่าวออกแล้วลงลายมือชื่อของตนก่อนจะสแกนแล้วส่งกลับไปทางอีเมลให้นายเมษา
เมื่อครบกำหนดตามสัญญาแล้ว นายมีนาไม่ได้ชำระเงินกู้คืนให้แก่นายเมษา นายเมษาจึงฟ้องนายมีนาให้ชำระเงินกู้คืน
นายมีนาโต้แย้งว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินกู้ที่นายเมษาให้ในการทำโครงการหนึ่งร่วมกันที่นำมาเป็นค่าใช้จ่ายก่อน เมื่อได้ผลตอบแทนแล้วก็จะหักกลบกัน นายมีนาไม่มีหนี้ค้างชำระใด ๆ
ปัญหาในกรณีนี้ในส่วนของการกู้ยืมกันนั้นปรากฏว่าไม่มีข้อเท็จจริงอื่นใดมาสนับสนุนให้เห็นตามที่นายมีนาอ้างว่ามีการทำโครงการร่วมกันจริง ทั้ง ๆ ที่เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับเงินจำนวนมาก ทำให้เห็นว่าน่าจะเป็นการกู้ยืมกันตามที่นายเมษาอ้างมาจริง
แต่ปัญหาที่น่าสนใจอีกประการสำหรับกรณีนี้คือหลักฐานเป็นหนังสือของสัญญากู้ยืมเงินที่มีการนำมาฟ้องร้องเป็นคดีนี้ เพราะตามที่กล่าวข้างต้นแล้วว่าหากเป็นการกู้ยืมเงินกันเกินกว่าสองพันบาทต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ไม่เช่นนั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้
ตามปกติของการทำหลักฐานเป็นหนังสือต้องทำกันเป็นกระดาษและให้ผู้ที่เป็นลูกหนี้ลงลายมือชื่อในกระดาษสัญญากู้หรือที่เป็นหลักฐานของสัญญากู้นั้น แต่ในกรณีนี้จะเห็นได้ว่าตอนที่นายมีนาพิมพ์ตัวสัญญาออกจากที่ได้รับทางอีเมลหรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แล้วลงลายมือชื่อในสัญญาที่พิมพ์ออกมาเป็นกระดาษก่อนจะสแกนสัญญาที่ลงลายมือชื่อแล้วส่งไฟล์กลับไปให้นายเมษา ต้นฉบับสัญญาที่มีลายมือชื่อของนายมีนาอยู่จริง ๆจะยังคงอยู่กับนายมีนา สิ่งที่นายเมษาได้รับไปจริง ๆ แล้วคือภาพสแกนตัวสัญญาที่มีการลงลายชื่อเท่านั้น เอกสารที่นำส่งในคดีจึงเป็นเพียงสิ่งที่พิมพ์ออกจากไฟล์ภาพสแกนที่ได้รับเท่านั้น
แต่กรณีนี้อาจถือว่าภาพสแกนสัญญากู้ยืมที่นายมีนาลงลายมือชื่อไว้เป็น “ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” ลักษณะหนึ่งตามพระราชบัญญัติธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ซึ่งในมาตรา 8 ของกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดไว้แล้วว่ากรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องทำเป็นหนังสือหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดง หากได้มีการทำในรูปของ “ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ให้ถือว่าได้มีการทำเป็นหนังสือหรือหลักฐานเป็นหนังสือตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว
ทำให้ในกรณีนี้แม้ตัวสัญญากู้ยืมที่เป็นกระดาษที่นายมีนาลงลายมือชื่อไว้จริง ๆ จะยังคงอยู่กับนายมีนา แต่ภาพสแกนเอกสารดังกล่าวก็ถือเป็นหลักฐานเป็นหนังสือที่ใช้ฟ้องร้องบังคับคดีได้แล้ว เพราะข้อมูลดังกล่าวที่อยู่ในลักษณะภาพสแกนย่อมสามารถนำกลับมาใช้ยืนยันความีอยู่ของสัญญาได้โดยไม่ทำให้เนื้อความของข้อมูลดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป
กรณีนี้คงพอสรุปได้ว่ากรณีที่มีการทำสัญญากู้ยืมและลงลายมือชื่อผู้กู้ไว้ในกระดาษ หากมีการส่งภาพสัญญาดังกล่าวทางอีเมลให้แก่ผู้ให้กู้ก็ถือได้ว่ามีการทำหลักฐานเป็นหนังสือที่อาจนำมาฟ้องร้องบังคับคดีกันได้แล้ว
(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3335/2563)
_____________________
ฎีกา InTrend ep.75 ส่งสัญญากู้ยืมไปทางอีเมลถือเป็นหลักฐานเป็นหนังสือใช้ฟ้องร้องได้หรือไม่
The Host : กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม
Guest Host : สรวิศ ลิมปรังษี
ที่ปรึกษา : สรวิศ ลิมปรังษี, อรวรานันท์ ธนาพันธ์วรากุล
Show Creator : นันทวัลย์ นุชนนทรี, ศณิฏา จารุภุมมิก
Episode Producer & Editor : ศณิฏา จารุภุมมิก, ปนัสยา ชื่นอุระ
Sound Designer & Engineer : กฤตภาส ทองแจ้ง, กิติชัย โล่สุวรรณ
Coordinator & Admin : สุภาวัชร์ ดลมินทร์, โสรัตน์ ไวศยดำรง
Art Director : สุภาวัชร์ ดลมินทร์, ปันจารีณ์ สุวรรณโภชน์ ทศพร ศิลาบำเพ็ญ
Webmaster : ผุสชา เรืองกูล, วชิระ โรจน์สุธีวัฒน์

