Accessibility Tools

กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์
Information and Public Relations Division
image

กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์

ประธานศาลฎีกาเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญimage

       วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๘ เวลา ๑๕.๐๐ นาฬิกา ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ CA ๔๒๙ อาคารรัฐสภา สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา นางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล ประธานศาลฎีกา เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาร่างประกาศ แบบใบสมัคร หลักเกณฑ์ วิธีการ และกรอบระยะเวลาในการดำเนินการสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

 

          เกร็ดความรู้

ภารกิจของประธานศาลฎีกาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่เกี่ยวกับการสรรหาบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ

       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ บัญญัติให้ประธานศาลฎีกามีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระทั้ง ๕ องค์กร ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยกำหนดให้ประธานศาลฎีกาเป็นประธานกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระโดยตำแหน่ง ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรรมการสรรหาโดยตำแหน่ง  นอกจากนี้ สำหรับการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยยังกำหนดให้บุคคลซึ่งองค์กรอิสระแต่งตั้งเป็นกรรมการสรรหาด้วย ดังนั้น องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จึงมีจำนวน ๙ คน ได้แก่ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร บุคคลซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้ง บุคคลซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินแต่งตั้ง บุคคลซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการการทุจริตแห่งชาติแต่งตั้ง บุคคลซึ่งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินแต่งตั้ง และบุคคลซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแต่งตั้ง 

ทั้งนี้ กรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นบุคคลที่องค์กรอิสระแต่งตั้ง ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งต้องไม่เคยปฏิบัติหน้าที่ใด ๆ ในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการสรรหา พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๔ วรรคสี่ กำหนดให้ศาลปกครองสูงสุดเป็นผู้วินิจฉัยภายในระยะเวลาสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ทั้งนี้ ไม่กระทบต่อการดำเนินการใดที่คณะกรรมการสรรหาได้ดำเนินการไปแล้วก่อนมีคําวินิจฉัย

       อย่างไรก็ดี หากไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร หรือบุคคลซึ่งองค์กรอิสระแต่งตั้งมีไม่ครบ ไม่ว่าด้วยเหตุใด รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้คณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่  ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหา กฎหมายบัญญัติให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการสรรหา และให้เลขาธิการวุฒิสภาเป็นเลขานุการของคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่าง ๆ ด้วย

สำหรับการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแทนตำแหน่งที่ว่างลงในครั้งนี้ เป็นกรณีสืบเนื่องจากคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้คัดเลือกบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน ๒ คน แทนนายนครินทร์  เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และนายปัญญา  อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ ๑๖ และวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ ตามลำดับ และได้เสนอต่อวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบ  ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๖๘ ในคราวประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๒๓ (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) บุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา จึงถือว่าบุคคลทั้ง ๒ คน ดังกล่าวไม่ได้รับความเป็นชอบจากวุฒิสภา และเป็นเหตุให้คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องดำเนินการสรรหาบุคคลใหม่แทน ทั้งนี้ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๒ วรรคเก้า

เนื่องจากนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ ส่วนนายปัญญา อุดชาชน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้รับหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ตํ่ากว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า หรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี ตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๔) และ (๕) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน ตามลำดับ ในครั้งนี้ คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องดำเนินการสรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัติตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๔) จำนวน ๑ คน และมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๕) อีก ๑ คน แทนนายนครินทร์และนายปัญญาซึ่งครบวาระการดำรงตำแหน่งดังกล่าว

ในการสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กฎหมายบัญญัติให้คณะกรรมการสรรหาปรึกษาหารือเพื่อคัดสรรให้ได้บุคคลซึ่งมีความรับผิดชอบสูง มีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ และมีพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม รวมตลอดทั้งมีทัศนคติที่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลสำเร็จ โดยนอกจากการประกาศรับสมัครแล้ว คณะกรรมการสรรหาอาจดำเนินการสรรหาจากบุคคลซึ่งมีความเหมาะสมทั่วไปได้ด้วยแต่ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลนั้น ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความหลากหลายของประสบการณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละด้านประกอบด้วย และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้คณะกรรมการสรรหาใช้วิธีการสัมภาษณ์หรือให้แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ หรือวิธีการอื่นใดที่เหมาะสม เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย