Accessibility Tools

กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์
Information and Public Relations Division
image

กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์

ฎีกา InTrend ep.27 ทำคลินิกด้วยกัน จะต้องรับผิดที่อีกคนทำให้คนไข้เสียหายหรือไม่image

ฎีกา InTrend – ทำคลินิกด้วยกัน จะต้องรับผิดที่อีกคนทำให้คนไข้เสียหายหรือไม่

สรวิศ ลิมปรังษี

         

          การทำมาค้าขายหรือทำกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นทางหากำไรด้วยกันอาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์และความรับผิดที่อาจจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องระหว่างคนที่มาทำธุรกิจหรือการค้าขายด้วยกัน หรือต่อบุคคลภายนอก กรณีศึกษาในตอนนี้จะเป็นเรื่องของการที่แพทย์สองคนร่วมทำคลินิกด้วยกันแล้วแพทย์คนหนึ่งทำการรักษาทำให้คนไข้ที่มารักษาเกิดความเสียหายขึ้น จึงมีปัญหาว่าแพทย์อีกคนในคลินิกนั้นจะต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือไม่เพียงใด

          เก่งกับกล้าเป็นแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันการศึกษาเดียวกัน โดยเก่งเป็นแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านอายุรกรรมทั่วไป ส่วนกล้าเป็นแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านโรคผิวหนัง ต่อมาทั้งคู่ได้ร่วมกันก่อตั้ง “คลินิกเก่งกล้า” เพื่อทำการรักษาโรคทั่วไปและโรคผิวหนัง

          วันหนึ่งสิงห์ซึ่งมีอาชีพเป็นพนักงานขายมีอาการปวดหลัง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณหัวไหล่และสะบักหลังเนื่องจากต้องขับรถไปติดต่อลูกค้าตามจังหวัดต่าง ๆ อยู่เสมอ สิงห์จึงได้ไปที่ “คลินิกเก่งกล้า” ซึ่งอยู่ในละแวกเดียวกันกับที่สิงห์พักอาศัย เก่งเป็นแพทย์ที่ตรวจรักษาให้แก่สิงห์ ตอนแรกเก่งให้ยาสิงห์ไปรับประทานแต่ปรากฏว่าสิงห์ยังมีอาการปวดอยู่มาก เมื่อสิงห์กลับไปพบเก่งอีกครั้ง เก่งจึงได้ฉีดยา “เคนาคอร์ท” ที่มีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ซึ่งก็ช่วยให้สิงห์ไม่มีอาการเจ็บปวดอีก

          หลายเดือนต่อมาสิงห์มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงจึงได้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง แพทย์ที่โรงพยาบาลดังกล่าวตรวจวินิจฉัยแล้วพบว่าสิงห์นอกจากจะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงแล้วยังมีอาการภาวะฮอร์โมนต่อมหมวกไตต่ำ มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง โดยอาการต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเกิดจาก “สารสเตียรอยด์” ซึ่งนอกจากการไปรักษากับเก่งแล้ว สิงห์ไม่เคยไปรักษาที่ต้องฉีดยาที่มีสารสเตียรอยด์จากที่อื่นอีก สิงห์จึงได้มาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผลการรักษาที่เกิดขึ้นโดยต้องการให้ทั้ง “เก่ง” และ “กล้า” รับผิดชดใช้ค่าเสียหาย

          กรณีที่เกิดขึ้นนี้ ในส่วนของ “เก่ง” เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าการรักษาของเก่งทำให้ “สิงห์” ได้รับความเสียหายจากผลข้างเคียงจนเกิดอาการต่าง ๆ หลายประการ เก่งคงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่สิงห์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

          ปัญหาของเรื่องนี้คงเป็นในส่วนของ “กล้า” ซึ่งเป็นแพทย์อีกคนที่เปิดคลินิกร่วมกับเก่งว่าจะต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดกับ “สิงห์” หรือไม่

          การที่เก่งกับกล้ามาเปิดคลินิกด้วยกันโดยใช้ชื่อว่า “คลินิกเก่งกล้า” นั้นย่อมแสดงให้เห็นว่าการที่ทั้งคู่มาทำกิจการร่วมกันเพื่อแสวงหากำไรที่เกิดจากกิจการดังกล่าวมาแบ่งปันกัน จึงมีผลเท่ากับว่าเก่งและกล้าตกลงเข้าหุ้นกันเป็น “ห้างหุ้นส่วน” ประเภทหนึ่ง เพียงแต่เมื่อไม่มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลก็มีสถานะเป็นห้างหุ้นส่วนที่ไม่จดทะเบียนเท่านั้น

          การที่ตกลงเข้าหุ้นเป็นห้างหุ้นส่วนนี้ เมื่อไม่มีการตกลงกันโดยเฉพาะว่าในระหว่างเก่งกับกล้าใครจะเป็น “หุ้นส่วนผู้จัดการ” จึงถือว่าหุ้นส่วนที่มาเข้าหุ้นกันทุกคนต่างเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการด้วยกันที่จะมีอำนาจในการทำกิจการต่าง ๆ ของห้างหุ้นส่วนนั้น

          เมื่อหุ้นส่วนคนหนึ่งไปทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดของห้างที่เป็นเรื่องที่อยู่ในขอบเขตของกิจการที่ตกลงกันเข้าหุ้นจึงมีผลเป็นเหมือนกิจการที่ “ตัวแทน” ไปทำกิจการนั้นแทนหุ้นส่วนผู้จัดการคนอื่นที่เป็นเสมือนตัวการดัวย การที่เก่งทำการรักษาให้สิงห์จนเกิดความเสียหายแก่สิงห์จึงถือว่าเป็นการที่เก่งทำไปแทนกล้าที่เป็นหุ้นส่วนอีกคนหนึ่งด้วย

          เมื่อปรากฏว่าสิ่งที่ “ตัวแทน” ได้ทำไปแล้วก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่บุคคลอื่น ผู้ที่เป็น “ตัวการ” ต้องร่วมรับผิดในการกระทำ “ละเมิด” และความเสียหายที่ตัวแทนไปก่อให้เกิดขึ้นนั้นด้วย ทำให้กล้าแม้จะไม่ได้เป็นผู้ทำการรักษาสิงห์เอง เพราะปกติจะรักษาคนไข้เฉพาะที่เป็นโรคผิวหนังเท่านั้น ต้องรับผิดชอบชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สิงห์ด้วย

          กรณีที่เกิดขึ้นนี้ความจริงแล้วผลที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติของการเข้าหุ้นเป็น “ห้างหุ้นส่วนสามัญ” ที่คนที่เป็น “หุ้นส่วน” จะต้องรับผิดในบรรดาหนี้ทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นของห้างอย่างไม่จำกัดอยู่แล้ว หากหนี้นั้นเกิดจากการกระทำที่เป็นเรื่อง “ธรรมดาค้าขาย” ของห้างนั้น แม้การกระทำจะเป็นสิ่งที่หุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งไปทำขึ้น แต่หุ้นส่วนคนอื่นก็ต้องผูกพันและรับผิดในหนี้ที่เกิดขึ้นแบบไม่จำกัดจำนวน

          กรณีนี้แม้จะเกิดขึ้นในการทำคลินิกรักษาผู้ป่วย แต่ความรับผิดที่เกิดขึ้นทำนองนี้สามารถเกิดขึ้นกับบรรดาผู้ที่ร่วมกันทำธุรกิจหรือกิจการค้าขายต่าง ๆ ได้เหมือน ๆ กัน หากปรากฏว่าการเข้าร่วมทำมาค้าขายนั้นเข้าลักษณะการเข้าหุ้นเป็นหุ้นส่วนเพื่อแสวงหากำไรมาแบ่งปันกัน ถ้าหุ้นส่วนคนหนึ่งไปก่อให้เกิดความเสียหายแก่คนอื่น หุ้นส่วนที่แม้จะไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายนั้นโดยตรงก็ต้องร่วมรับผิดด้วยเช่นกัน

 

(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2377/2561)

ฎีกา InTrend ep.27 ทำคลินิกด้วยกัน จะต้องรับผิดที่อีกคนทำให้คนไข้เสียหายหรือไม่

The Host : กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม

Guest Host :  สรวิศ  ลิมปรังษี

ที่ปรึกษา :  สรวิศ  ลิมปรังษี, สุริยัณห์ หงษ์วิไล, จีรวรรณ  เจริญยศ
 
Show Creator : นันทวัลย์  นุชนนทรี, ศณิฏา  จารุภุมมิก
Episode Producer & Editor  : ศณิฏา  จารุภุมมิก, ปนัสยา ชื่นอุระ
Sound Designer & Engineer : กฤตภาส  ทองแจ้ง, กิติชัย โล่สุวรรณ
Coordinator & Admin : สุภาวัชร์  ดลมินทร์, โสรัตน์  ไวศยดำรง
Art Director  : สุภาวัชร์  ดลมินทร์, ปันจารีณ์ สุวรรณโภชน์ ทศพร  ศิลาบำเพ็ญ
Webmaster  : ผุสชา  เรืองกูล, วชิระ  โรจน์สุธีวัฒน์


image รูปภาพ
image

image เอกสารแนบ