Accessibility Tools

กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์
Information and Public Relations Division
image

กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์

ฎีกา InTrend ep.25 ขายล๊อตเตอรี่เกินราคาแล้วถูกเบี้ยว ฟ้องคนรับไปขายต่อว่าฉ้อโกงได้หรือไม่image

ฎีกา InTrend – ขายล๊อตเตอรี่เกินราคาแล้วถูกเบี้ยว ฟ้องคนรับไปขายต่อว่าฉ้อโกงได้หรือไม่

สรวิศ ลิมปรังษี

         

          สลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นความหวังของใครต่อใครหลาย ๆ คนที่เห็นว่าเป็นช่องทางสร้างความร่ำรวยด้วยเงินลงทุนน้อยแต่มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูง แต่ปัญหาเรื้อรังที่เกิดมาทุกยุคทุกสมัยประการหนึ่งคือการขายเกินราคาที่ความพยายามแก้ไขหลายครั้งยังไม่ประสบผลสำเร็จ ปัญหาที่จะนำมากล่าวถึงในตอนนี้จะเป็นกรณีที่ผู้รับสลากไปขายต่อเกินราคาแล้วเกิดถูกผู้ที่ซื้อไปเบี้ยวไม่ยอมจ่ายเงินค่าสลาก ผู้ที่ขายเกินราคานั้นจะสามารถฟ้องผู้ซื้อเป็นความผิดอาญาในข้อหาฉ้อโกงได้หรือไม่

          “สมบูรณ์” เป็นผู้ที่ได้รับส่วนแบ่งในการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ปกติในแต่ละงวดจะได้สลากจำนวน 15 เล่ม เพื่อให้นำไปขายต่อ ต่อมาสมบูรณ์ได้รับการติดต่อจาก “ก่อเกิด” ซึ่งเป็นคนที่สมบูรณ์รู้จักจากการทำงานทางการเมืองท้องถิ่นด้วยกันว่าต้องการจะหาสลากกินแบ่งรัฐบาลไปกระจายให้หัวคะแนนในท้องที่ต่าง ๆ มีรายได้และจะได้เป็นฐานเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อ ๆ ไป

สมบูรณ์จึงได้ไปรวบรวมหาสลากกินแบ่งรัฐบาลจากคนที่รู้จักหลาย ๆ คนมาได้อีก 635 เล่ม และตกลงขายให้ก่อเกิดไปแบ่งกระจายขายต่อทั้งหมด 650 เล่ม โดยขายให้ในราคาฉบับละ 100 บาท รวมเป็นเงิน 6,500,000 บาท ทั้งสองคนตกลงกันว่าเมื่อขายได้เงินมาแล้วก่อเกิดจะนำมาชำระคืนให้แก่สมบูรณ์ทั้งหกล้านห้าแสนบาท ต่อมาเมื่อครบกำหนดสมบูรณ์พยายามติดต่อทวงเงินคืนจากก่อเกิด แต่ก่อเกิดก็พยายามบ่ายเบี่ยงด้วยเหตุต่าง ๆ นานา และบางครั้งก็เลี่ยงไม่ยอมพบหน้า ไม่รับโทรศัพท์

สมบูรณ์จึงฟ้องก่อเกิดเป็นคดีอาญากล่าวหาว่าก่อเกิดฉ้อโกงตนเอง ด้วยการหลอกลวงว่าจะนำสลากไปจำหน่ายแล้วจะนำเงินมาคืน

คดีฉ้อโกงในหลาย ๆ กรณีเป็นเรื่องที่ก้ำกึ่งระหว่างการตกลงทำสัญญาทางแพ่งอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วมีการผิดสัญญากัน แต่เมื่อเกิดเหตุแล้วอาจมีการยกเป็นข้อกล่าวหาว่าการกระทำที่เกิดขึ้นเป็นการฉ้อโกง เนื่องจากการที่เข้าไปตกลงทำสัญญาเหล่านั้น ความจริงแล้วคนที่ถูกกล่าวหาไม่ได้มีเจตนาจะตกลงทำสัญญาเป็นมั่นเป็นเหมาะจริง ๆ เพียงแต่ใช้การทำสัญญานั้นเป็นเหมือนเครื่องมือในการจูงใจให้อีกฝ่ายตกลงด้วยเพื่อที่จะทำให้คนที่ถูกกล่าวหาไปได้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดที่เป็นทรัพย์สินไปจากอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น

หากข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนว่าความจริงแล้วคนที่ถูกกล่าวหาไม่ได้มีเจตนาที่จะทำตามข้อตกลงมาแต่แรกและใช้การทำสัญญาเป็นเพียงเครื่องมือในการทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินก็อาจเป็นความผิดฐานฉ้อโกงได้ แต่หากไม่ถึงขนาดนั้น โดยมีการตกลงทำสัญญากันจริง ๆ เพียงแต่เมื่อทำสัญญาไปแล้วมีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญานั้นได้ การกระทำนั้นก็ไม่ใช่ความผิดอาญา แต่เป็นเรื่องทางแพ่งที่ต้องไปฟ้องร้องบังคับให้ชำระหนี้กันตามปกติ

แต่ปัญหาในคดีนี้ยังเดินไปไม่ถึงขนาดที่จะพิสูจน์ว่าความจริงแล้วการกระทำของของ “ก่อเกิด” เข้าลักษณะเป็นการฉ้อโกงจริง ๆ หรือไม่ แต่ติดอยู่ที่ปัญหาที่ว่าจากพฤติการณ์ในกรณีนี้ “สมบูรณ์” เองถือเป็น “ผู้เสียหายโดยนิตินัย” ที่จะมีสิทธิดำเนินคดีอาญากับคนที่ถูกกล่าวหาหรือไม่

ข้อเท็จจริงสำคัญในกรณีนี้ที่เห็นได้ชัดเจนคือสลากกินแบ่งรัฐบาลนั้นมีกฎหมายกำหนดให้ขายได้ไม่เกินฉบับละ 80 บาท และมีการกำหนดโทษไว้ในพระราชบัญญัติสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 มาตรา 39 ด้วยว่าผู้ที่ขายสลากเกินราคาจะต้องรับโทษทางอาญาตามที่กฎหมายกำหนด

การที่สมบูรณ์ตกลงขายสลากให้ก่อเกิดในราคาฉบับละ 100 บาท คิดราคารวมจาก 650 เล่มเป็นเงินหกล้านห้าแสนบาทจึงเป็นพฤติการณ์ที่เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการขายเกินราคาที่กฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะ และเป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษทางอาญาอยู่ด้วย ผลประโยชน์ที่สมบูรณ์อ้างว่าสูญเสียไปให้แก่ก่อเกิดจึงเป็นผลประโยชน์ที่เกิดจากการกระทำที่ผิดกฎหมายดังกล่าว การที่ขายไปในราคา 100 บาท คนที่ซื้อต่อไปย่อมจะต้องขายในราคาที่แพงมากขึ้นไปอีก การกระทำของสมบูรณ์จึงยิ่งเหมือนส่งเสริมให้มีการกระทำผิดกฎหมายเพิ่มขึ้นด้วย

พฤติการณ์เหล่านี้จึงทำให้ไม่ถือว่าสมบูรณ์เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยในกรณีนี้ และไม่มีอำนาจมาฟ้องให้ก่อเกิดต้องรับผิดทางอาญาในข้อหาฉ้อโกงได้

การกระทำที่เป็นการมีส่วนร่วมหรือส่งเสริมให้เกิดการกระทำความผิดอาญาในทำนองนี้จึงทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่เป็นผู้เสียหายที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีได้ การที่ทำให้ผู้ที่กระทำผิดฐานขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคาไม่สามารถมาฟ้องร้องเล่นงานคนที่ทำให้ตนเองเสียหายจึงเป็นเสมือนการทำให้ผู้ที่มีส่วนในการกระทำผิดเหล่านี้ต้องแบกรับความเสี่ยงและผลความเสียหายที่ตนมีส่วนร่วมทำให้เกิดขึ้นด้วย แม้จะไม่ทำให้บุคคลเหล่านี้ต้องรับโทษเองโดยตรงก็ตาม

 

(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 577/2561)

 

__________________________

 

ฎีกา InTrend ep.25 ขายล๊อตเตอรี่เกินราคาแล้วถูกเบี้ยว ฟ้องคนรับไปขายต่อว่าฉ้อโกงได้หรือไม่

The Host : กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม

Guest Host :  สรวิศ  ลิมปรังษี

ที่ปรึกษา :  สรวิศ  ลิมปรังษี, สุริยัณห์ หงษ์วิไล, จีรวรรณ  เจริญยศ
 
Show Creator : นันทวัลย์  นุชนนทรี, ศณิฏา  จารุภุมมิก
Episode Producer & Editor  : ศณิฏา  จารุภุมมิก, ปนัสยา ชื่นอุระ
Sound Designer & Engineer : กฤตภาส  ทองแจ้ง, กิติชัย โล่สุวรรณ
Coordinator & Admin : สุภาวัชร์  ดลมินทร์, โสรัตน์  ไวศยดำรง
Art Director  : สุภาวัชร์  ดลมินทร์, ปันจารีณ์ สุวรรณโภชน์ ทศพร  ศิลาบำเพ็ญ
Webmaster  : ผุสชา  เรืองกูล, วชิระ  โรจน์สุธีวัฒน์


image รูปภาพ
image

image เอกสารแนบ