Accessibility Tools

กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์
Information and Public Relations Division
image

กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์

ฎีกา InTrend ep.19 สมัครใจชกต่อยแต่ถูกรุมทำร้ายถึงตาย จะมีสิทธิได้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่image

ฎีกา InTrend – สมัครใจชกต่อยแต่ถูกรุมทำร้ายถึงตาย จะมีสิทธิได้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่

สรวิศ ลิมปรังษี

                การทะเลาะเบาะแว้งและมีเรื่องมีรวมถึงขนาดต่อยตีกันอาจเกิดขึ้นอยู่เสมอ โดยเฉพาะในหมู่คนที่อายุไม่มาก ด้วยความที่ “เลือดร้อน” เมื่อเกิดการกระทบกระทั่งขึ้น แต่ปัญหาที่จะนำมาพูดคุยในตอนนี้คงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อมีเรื่องมีราวถึงขั้นต่อยตีกันแล้ว แต่เกิดมีฝ่ายหนึ่งพลาดท่าเสียทีถูกทำร้ายถึงตาย พ่อแม่ของผู้ที่ถูกทำร้ายนั้นจะมีสิทธิได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ และจะมีหลักการหรือวิธีการคิดกับปัญหาในทำนองนี้อย่างไร

          กุ้งเป็นนักเรียนในโรงเรียนแห่งหนึ่ง วันหนึ่งกุ้งมีเรื่องทะเลาะกับสิงห์และพรรคพวกของสิงห์อีกสามคน สุดท้ายทั้งสองฝ่ายก็ควบคุมอารมณ์ของตัวเองไม่ได้ กุ้งจึงเข้าชกต่อยกับสิงห์และพวก ในระหว่างที่ทั้งสองฝ่ายชกต่อยกันอยู่นั้น พรรคพวกของสิงห์ก็ใช้ท่อนไม้และไม้คทาของดรัมเมเยอร์ทุบตีกุ้งจนทำให้กุ้งได้รับบาดเจ็บและต่อมาเสียชีวิตในระหว่างถูกนำตัวไปโรงพยาบาล พนักงานอัยการจึงได้ฟ้องสิงห์กับพวกเป็นคดีอาญาในข้อหาทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยไม่เจตนา ระหว่างการพิจารณา มารดาของกุ้งได้ยื่นคำร้องให้สิงห์กับพวกชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 500,000 บาท สิงห์กับพวกให้การต่อสู้ว่ามารดาของกุ้งไม่มีสิทธิได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เพราะเป็นกรณีที่กุ้งสมัครใจเข้าทะเลาะวิวาทกับพวกของตนเอง กุ้งจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะมีสิทธิได้รับการชดใช้

          ปัญหาของเรื่องนี้อาจสมมติให้แตกต่างไปจากกรณีที่เกิดขึ้นสักนิดว่า หากเป็นกรณีที่ไม่ใช่คดีที่พนักงานอัยการฟ้องสิงห์กับพวกเป็นจำเลย แต่มารดาของกุ้งเป็นผู้ฟ้องคดีอาญาเอง กรณีแบบนี้อาจมีปัญหาในส่วนของคดีอาญาได้ว่ามารดาของกุ้งจะมีอำนาจมาจัดการแทนเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาได้เองหรือไม่ เพราะเรื่องเริ่มมาจากการที่กุ้งเองสมัครใจเข้าทะเลาะวิวาทและต่อยตีกับสิงห์กับพวกเองตั้งแต่แรก ทำให้อาจถือว่าในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องทางอาญา กุ้งไม่ใช่ “ผู้เสียหาย” ในความหมายของกฎหมายไปด้วย  หรือไม่ใช่ “ผู้เสียหายโดยนิตินัย”

          แต่กรณีของคดีนี้เป็นเรื่องที่แตกต่างไป เพราะเป็นคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง การที่มารดาของกุ้งยื่นคำร้องเข้ามาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 เป็นการขอให้ชดใช้ค่าเสียหายในส่วน “แพ่ง” ที่ถือว่ามีการทำละเมิดทำให้กุ้งถึงแก่ความตาย เพียงแต่เป็นกรณีที่การทำละเมิดนี้เกี่ยวพันกับการกระทำความผิดทางอาญาด้วยจึงทำให้เป็นเรื่องของ “คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา”

          การที่กฎหมายกำหนดมาตรการให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดอาญาสามารถยื่นคำร้องตามมาตรา 44/1 ดังกล่าวได้ก็เพื่ออำนวยความสะดวกและคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายไม่ว่าจะเป็นการได้รับอันตรายหรือความเสียหายทางร่างกาย ชีวิตหรือทรัพย์สินให้สามารถดำเนินการเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนได้โดยไม่ต้องฟ้องร้องเป็นคดีแยกต่างหาก และสามารถได้รับการพิจารณาพิพากษาไปในคราวเดียวกันกับคดีอาญาได้เลย

          แม้ว่าคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวจะยื่นเข้ามาในคดีอาญา แต่โดยสภาพยังถือเป็น “คดีแพ่ง” ลักษณะหนึ่ง ทำให้แม้ในส่วนที่เกี่ยวกับคดีอาญา กุ้งอาจจะไม่ถือว่าเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย เนื่องจากมีส่วนสมัครใจเข้าไปต่อยตีกับสิงห์และพวกเอง แต่ในส่วนเกี่ยวกับการชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งไม่ทำให้กุ้งซึ่งรวมถึงมารดาของกุ้งถูกตัดสิทธิไม่ให้ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายไปด้วย เพราะการชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งแม้จะต่างฝ่ายต่างมีส่วนผิด แต่การที่ฝ่ายใดจะได้รับชดใช้ค่าเสียหายหรือไม่ย่อมต้องดูว่าความผิดของฝ่ายใดมีส่วนก่อให้เกิดขึ้นมากกว่ากัน ฝ่ายหนึ่งแม้จะมีส่วนผิดทำให้เกิดเรื่องเกิดราวขึ้น แต่หากสัดส่วนของความผิดนั้นยังน้อยกว่าอีกฝ่ายก็ยังอาจได้รับการชดใช้ตามสัดส่วนดังกล่าวได้อยู่

          ในกรณีนี้แม้ว่ากุ้งจะมีส่วนเข้าไปต่อยตีกับอีกฝ่าย แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นจนทำให้กุ้งเสียชีวิตนั้นอาจกล่าวได้ว่ามาจากฝ่ายของสิงห์กับพวกเสียมากกว่าที่เป็นฝ่ายใช้ท่อนไม้และไม้คทาของดรัมเมเยอร์มาทุบตีกุ้งจนเสียชีวิต หากทั้งสองฝ่ายเพียงแต่ต่อยตีกันด้วยมือเปล่าธรรมดาคงมีโอกาสไม่มากที่กุ้งจะเสียชีวิต ด้วยเหตุนี้เองจึงพอจะบอกได้ว่าความเสียหายซึ่งก็คือความตายของกุ้งมาจากการกระทำของสิงห์กับพวกเสียมากกว่า ดังนั้น มารดาของกุ้งจึงมีสิทธิที่จะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากสิงห์กับพวกได้

          บทเรียนของเรื่องนี้อาจกล่าวได้ว่าหากมีส่วนทำให้เกิดเรื่องเกิดราวที่เป็นความผิดอาญาขึ้นมา คนที่มีส่วนทำให้เกิดเรื่องนั้นขึ้นมาอาจะไม่ถือว่าเป็น “ผู้เสียหายโดยนิตินัย” สำหรับเรื่องทางอาญา แต่หากแม้คนนั้นแม้จะมีส่วนทำให้เกิดความเสียหายบ้าง แต่ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะการกระทำของอีกฝ่ายมากกว่า ฝ่ายนั้นก็ยังมีสิทธิได้รับการชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งอยู่บ้าง ขึ้นอยู่กับสัดส่วนของความผิดว่าใครก่อให้เกิดขึ้นมากน้อยกว่ากัน

 

(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 660/2563)

The Host : กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม

Guest Host :  สรวิศ  ลิมปรังษี

ที่ปรึกษา :  สรวิศ  ลิมปรังษี, สุริยัณห์ หงษ์วิไล, จีรวรรณ  เจริญยศ
 
Show Creator : นันทวัลย์  นุชนนทรี, ศณิฏา  จารุภุมมิก
Episode Producer & Editor  : ศณิฏา  จารุภุมมิก, ปนัสยา ชื่นอุระ
Sound Designer & Engineer : กฤตภาส  ทองแจ้ง, กิติชัย โล่สุวรรณ
Coordinator & Admin : สุภาวัชร์  ดลมินทร์, โสรัตน์  ไวศยดำรง
Art Director  : สุภาวัชร์  ดลมินทร์, ปันจารีณ์ สุวรรณโภชน์ ทศพร  ศิลาบำเพ็ญ
Webmaster  : ผุสชา  เรืองกูล, วชิระ  โรจน์สุธีวัฒน์

 

 


image รูปภาพ
image

image เอกสารแนบ