Accessibility Tools

กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์
Information and Public Relations Division
image

กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์

COJ Around The World ep.1 ธุรกิจสายการบินกับกระบวนการฟื้นฟูกิจการimage

 

The Host : กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม

Guest Host : กนก  จุลมนต์

ที่ปรึกษา : สุริยัณห์  หงษ์วิไล             

Show Creator : วิภาวรรณ  หลีศิริ, นันทวัลย์  นุชนนทรี, ศณิฏา  จารุภุมมิก
Episode Producer & Editor  : ศณิฏา  จารุภุมมิก

Sound Designer & Engineer : กฤตภาส  ทองแจ้ง, กิติชัย โล่ห์สุวรรณ, สุภาวัชร์  ดลมินทร์

Coordinator & Admin : สุภาวัชร์  ดลมินทร์

Art Director  : ทศพร  ศิลาบำเพ็ญ
Webmaster  : วชิระ  โรจน์สุธีวัฒน์

COJ PODCAST

COJ Around The World

เปิดมุมมองกฎหมายแบบ 360 องศา

COJ Around The World ep.1 ธุรกิจสายการบินกับกระบวนการฟื้นฟูกิจการ

          จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจที่ได้เกิดผลกระทบไปทั่วโลกโดยเฉพาะธุรกิจการบิน อย่างเช่นในกรณีที่ ลาทัม แอร์ไลน์ สายการบินสัญชาติชิลี ได้ยื่นล้มละลายต่อศาลนิวยอร์ก ขอพิทักษ์ทรัพย์สินระหว่างฟื้นฟูกิจการ เพื่อให้ธุรกิจยังคงดำเนินต่อไป ทำให้เกิดความสงสัยกันว่าการยื่นล้มละลายกับการฟื้นฟูกิจการ คืออะไร

          วันนี้ทาง COJ PODCAST จะได้พูดคุยกับ ดร.กนก จุลมนต์ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา เกี่ยวกับกระบวนการฟื้นฟูกิจการของธุรกิจสายการบินในประเด็นต่างๆ เริ่มตั้งแต่สถานการณ์โดยรวมของธุรกิจสายการบิน ความหมายของกระบวนการฟื้นฟูกิจการ วัตถุประสงค์ ข้อดี ความแตกต่างระหว่างกระบวนการฟื้นฟูกิจการกับการดำเนินคดีล้มละลาย และขั้นตอนต่างๆ ของกระบวนการฟื้นฟูตามกฎหมายของประเทศไทย

เกริ่นนำ

          ก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหาเรื่องกระบวนการฟื้นฟูกิจการและการล้มละละลาย อยากจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับนิยามศัพท์เฉพาะเกี่ยวกับกฎหมายล้มละลายและฟื้นฟูกิจการก่อน เนื่องจากข่าวที่คนไทยได้รับเกี่ยวกับการประสบปัญหาทางด้านสายการบินทั่วโลกตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาเป็นการแปลมาจากภาษาอังกฤษ ซึ่งภาษาอังกฤษทางด้านกฎหมาย ก็จะมีความหมายเฉพาะเพิ่มเติมจากความหมายทั่วไป

          ที่ข่าวรายงานว่า ยื่นล้มละลายต่อศาลที่นิวยอร์ก แปลมาจากภาษาอังกฤษว่า file for bankruptcy protection in a court in New York ซึ่งหมายความว่า การยื่นคำร้องขอเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ซึ่งตามกฎหมายล้มละลายของสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็เหมือนกับของประเทศไทยคือ ในกฎหมายล้มละลาย มีเนื้อหาทั้งในส่วนของกระบวนการล้มละลาย และกระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยในส่วนกฎหมายล้มละลาย จะแบ่งเนื้อหาส่วนใหญ่ออกเป็นหมวดต่างๆ ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Chapter ซึ่งคำทั่วๆ ไปจะแปลว่า บท แต่เมื่อแปลในบริบทของกฎหมายจะแปลว่า หมวด ซึ่งเป็นส่วนย่อยของกฎหมาย กฎหมายล้มละลายสหรัฐอเมริกาแบ่งออกเป็น 9 หมวด โดยส่วนที่เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการล้มละลายหรือการชำระบัญชี (liquidation) จะอยู่ในหมวด 7 (Chapter 7) ส่วนเนื้อหาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการ(Reorganization) จะอยู่ในหมวด 11 ซึ่งเรียกว่า Chapter 11

          ดังนั้น การยื่นคำร้องขอเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายล้มละลาย จึงต้องศึกษาให้ละเอียดลงไปถึงคำร้องขอ ว่าเป็นการยื่นคำร้องขอตามหมวดใด ถ้าในข่าวให้ข้อมูลว่า เป็น Chapter 11 petition ก็แปลว่า เป็นการยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการ ไม่ใช่การยื่นคำร้องขอให้ล้มละลาย

          ดังนั้น การแปลข่าวข้างต้นจึงต้องแปลว่า สายการบินลาทัมยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายล้มละลายของสหรัฐอเมริกาตามหมวด 11 (ยื่นเมื่อวันอังคารที่ 26 พ.ค.)

1.การฟื้นฟูกิจการคืออะไร

การปรับโครงสร้างหนี้หรือโครงสร้างทางด้านการเงินขององค์กรธุรกิจ โดยขอลดยอดหนี้ที่ค้างชำระลงโดยขอชำระเป็นเป็นจำนวนที่บริษัทลูกหนี้สามารถทยอยผ่อนชำระได้ตามความสามารถในการสร้างรายที่แท้จริงได้ในปัจจุบันภายในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

2.จุดประสงค์ของการฟื้นฟูกิจการ

มองได้จากสองมุมมองของผู้มีส่วนได้เสียหลักในกระบวนการฟื้นฟูคือ ลูกหนี้และเจ้าหนี้

2.1 ช่วยรักษาและพลิกฟื้นองค์กรธุรกิจที่ประสบปัญหาทางเงินให้กลับมาเป็นหน่วยทางเศรษฐกิจที่มีความสามารถในการผลิตและแข่งขันได้

2.2. ทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้คืน(recovery rate) มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่ขั้นต่ำ/อย่างน้อยที่สุดเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้คืนเป็นสัดส่วนที่ไม่น้อยกว่าสัดส่วนที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระคืนหากลูกหนี้ล้มละลาย

กฎเกณฑ์จะพยายามทำให้ได้ดุลระหว่างวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือธุรกิจที่ประสบปัญหา กับ การปกป้องผลประโยชน์ของเจ้าหนี้

3. ข้อดีเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการ

3.1 ช่วยรักษามูลค่าของกิจการของลูกหนี้

3.2 จากข้อ 3.1 จะส่งผลให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่าหรือมากกว่าหากลูกหนี้ล้มละลาย

3.3 ข้อดีหรือประโยชน์อีกข้อหนึ่งคือ ดีต่อบุคคลอื่นๆ ที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ด้วย เช่น คู่ค้าของลูกหนี้ ลูกจ้าง/พนักงานของลูกหนี้ ชุมชนที่อยู่บริเวณที่ตั้งของกิจการของลูกหนี้ที่จะได้รับการพัฒนา และหน่วยงานของรัฐที่สามารถจัดเก็บภาษีประเภทต่างๆ จากการประกอบกิจการของลูกหนี้

4.ข้อแตกต่างระหว่างการฟื้นฟูกิจการและการล้มละลาย

กระบวนการฟื้นฟูกิจการธุรกิจของลูกหนี้ยังดำเนินต่อไป โดยนำรายได้จากการประกอบกิจการต่อไปทยอยชำระหนี้คืนตามจำนวนที่ขอลดยอดหนี้ลงบางส่วน

ส่วนการล้มละลายคือ ปิดกิจการ ไม่มีการดำเนินธุรกิจต่อไปอีกแล้ว เป็นกระบวนการรวบรวมทรัพย์สินที่ลูกหนี้มีอยู่ทั้งหมด ถ้าหากมี นำไปจำหน่ายซึ่งวิธีหลักคือ การขายทอดตลาด เมื่อขายได้เป็นจำนวนเท่าใด ก็นำเงินจำนวนดังกล่าวมาแบ่งให้เจ้าหนี้ทั้งหลาย ตามประเภทของเจ้าหนี้ ลำดับบุริมสิทธิ และหรือตามสัดส่วนต่อไป

5.เมื่อศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว จะมีผลอย่างไร

ตามกฎหมายของประเทศไทยคือ พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 หมวด 3/1ผลทางกฎหมายที่สำคัญจะเริ่มตั้งแต่วันที่ศาลรับคำร้องขอไว้พิจารณาเมื่อศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการไว้พิจารณา จะเกิดสภาวะพักการบังคับชำระหนี้กับมูลหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและหรือวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน (ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการ)เมื่อศาลไต่สวนคำร้องขอเสร็จสิ้นแล้ว มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ก็จะมีการตั้งผู้ทำแผน เพื่อจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งผู้ทำแผนมีเวลาไม่เกินสามเดือน ในการจัดทำแผนให้แล้วเสร็จ แผนจะมีผลผูกมัดต้องผ่านสองขั้นตอน หนึ่งคือ ที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับ และสอง ศาลมีคำสั่งเห็นชอบ ในวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน ศาลจะมีคำสั่งตั้งผู้บริหารแผน ซึ่งผู้บริหารแผนจะบริหารกิจการของลูกหนี้ตามแผน ซึ่งมีระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี เมื่อดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผน ศาลจะมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งทำให้คดีฟื้นฟูกิจการสิ้นสุดลง แต่หากดำเนินการไม่สำเร็จ ศาลอาจจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด หากเหตุว่ามีเหตุอันสมควรที่ลูกหนี้ควรล้มละลาย


image รูปภาพ
image