Accessibility Tools

กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์
Information and Public Relations Division
image

กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์

ข้อเท็จจริงและแนวทางการพิจารณาและการยกเลิกการปล่อยชั่วคราวimage

ตามที่มีข่าวในสื่อมวลชน กรณีวันที่ 16 มกราคม 2566 ศาลอาญามีคำสั่งยกเลิกการปล่อยชั่วคราวนางสาว ท. และนางสาว อ. ผู้ต้องหาในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น 

เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของศาลยุติธรรม โดยเฉพาะกระบวนการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา ศาลยุติธรรมขอแจ้งให้ทราบ ดังนี้

ศาลยุติธรรมมีหน้าที่ตามกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้เสียหาย ผู้ต้องหา และจำเลย
ในคดีอาญา ควบคู่ไปกับการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม การพิจารณาปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา
หรือจำเลย ศาลจะดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม ภายใต้มาตรฐานเดียวกันทุกคดี และศาลถือหลักการไม่ปล่อยชั่วคราวเป็นข้อยกเว้น ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตลอดจนข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวและ
วิธีเรียกประกันในคดีอาญา พ.ศ. 2565 ซึ่งกำหนดให้ศาลต้องพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความหนักเบา
แห่งข้อหา พยานหลักฐานที่ปรากฏ พฤติการณ์แห่งคดี ตลอดจนภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิด
จากการปล่อยชั่วคราว

การพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว และการกำหนดเงื่อนไขอย่างใดในแต่ละคดีเป็นการใช้ดุลพินิจโดยอิสระขององค์คณะผู้พิพากษาตามกฎหมายภายใต้หลักประกันความอิสระของ
ฝ่ายตุลาการ ตามมาตรา 188 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งศาลมีระบบตรวจสอบและป้องกัน
การแทรกแซงการทำหน้าที่ขององค์คณะผู้พิพากษาที่เข้มแข็ง ในระบบศาลยุติธรรมไม่มีผู้ใดมีอำนาจสั่งการองค์คณะผู้พิพากษาในการวินิจฉัยคดีได้

เมื่อมีการขอปล่อยชั่วคราว และเข้าเกณฑ์ที่จะอนุญาต ศาลจะมีคำสั่งปล่อยชั่วคราว โดยวางเงื่อนไขหรือวิธีการที่เหมาะสมและได้สัดส่วนกับพฤติการณ์ให้ผู้ต้องหาปฏิบัติในระหว่างที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวตามที่กฎหมายบัญญัติ เช่น การกำหนดข้อห้ามไม่ให้ทำกิจกรรมบางอย่าง การห้ามเข้าหรือห้ามออก
จากสถานที่ การแต่งตั้งผู้กำกับดูแล การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (กำไล EM) หรือการเรียกหลักประกัน เป็นต้น

ดุลพินิจของศาลในการสั่งคดี มีการตรวจสอบตามลำดับชั้นศาลในทางวิธีพิจารณาคดี คดีนี้ หากศาลอาญาไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ผู้ต้องหาก็มีสิทธิที่จะยื่นอุทธรณ์คำสั่งไปยังศาลอุทธรณ์ได้

 

          กรณีนางสาว ท. พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565
ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามมิให้ผู้ต้องหากระทำการในลักษณะ
แบบเดียวกับที่ถูกกล่าวหา หรือเข้าร่วมในกิจกรรมใด ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หรือทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และให้ติดกำไล EM (โดยความยินยอมของผู้ต้องหา)
คำสั่งศาลอาญานี้ เป็นกรณีที่ศาลเห็นว่า คดีมีเหตุที่จะออกหมายขังได้ตามกฎหมาย แต่สมควรอนุญาต
ให้ปล่อยชั่วคราวโดยกำหนดเงื่อนไขให้นางสาว ท. ปฏิบัติ เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการไปก่อเหตุต่าง ๆ
ดังที่กล่าวมาข้างต้น

          ต่อมาวันที่ 18 มีนาคม 2565 พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่ง
ที่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงว่า นางสาว ท. ได้ทำกิจกรรมที่เข้าข่ายเป็นการ
ผิดเงื่อนไข ศาลไต่สวนแล้วพบว่า นางสาว ท. ปฏิบัติผิดเงื่อนไขจริง จึงมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งอนุญาต
ให้ปล่อยชั่วคราว

          วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ
และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ใช้ตำแหน่งยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวนางสาว ท. โดยนางสาว ท.
และนายพิธายืนยันรับที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดทุกประการ ศาลจึงมีคำสั่งอนุญาต
ให้ปล่อยชั่วคราวอีกครั้ง โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกเคหสถาน เว้นแต่เป็นกรณีเจ็บป่วยหรือได้รับอนุญาตจากศาล ห้ามทำกิจกรรมในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา ให้ติดกำไล EM (โดยความยินยอม
ของผู้ต้องหา) และให้ตั้งนายพิธาเป็นผู้กำกับดูแลนางสาว ท.

เงื่อนไขที่ศาลกำหนดดังกล่าว ศาลกำหนดให้ใช้แก่คดีต่าง ๆ มามากแล้ว มิใช่เจาะจงใช้เฉพาะ
แก่คดีนี้หรือคดีกลุ่มนี้ และเป็นการกำหนดตามที่กฎหมายบัญญัติ เช่น การติดกำไล EM ก็ดำเนินการภายใต้ความยินยอมของผู้ต้องหาให้ติดได้ การห้ามออกนอกเคหสถานหรือห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกันกับ
ที่ถูกกล่าวหา ก็เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยชั่วคราว (ม.108 วรรคสาม)

แม้นางสาว ท. จะยินยอมสวมกำไล EM และยอมรับเงื่อนไขห้ามออกนอกเคหสถาน แต่ก็ได้รับอนุญาตจากศาลให้ไปทำกิจธุระหรือแม้แต่การไปเที่ยวพักผ่อนได้ตามสมควร ซึ่งนางสาว ท. ได้ขออนุญาตศาลไปทำกิจธุระรวม 19 ครั้ง ศาลอาญาได้พิจารณาอนุญาตถึง 14 ครั้ง เช่น นำคอมพิวเตอร์ไปซ่อม ทำบัตรประจำตัวประชาชน ตัดชุดกระโปรงนักศึกษา ซื้อเอกสารประกอบการเรียน ไปเที่ยวจังหวัดระยอง เล่นบอร์ดเกม ฉลองหลังสอบเสร็จ ชมงานศิลปะ โดยศาลไม่อนุญาตเพียง 5 ครั้ง ด้วยเหตุกิจกรรมที่ขออนุญาต
ไปดำเนินการ มีลักษณะที่จะผิดเงื่อนไขในการปล่อยชั่วคราว

          สำหรับประเด็นเรื่องการนัดไต่สวนกรณีผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวของนางสาว ท. นั้น เป็นเรื่องที่ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย โดยการคุมขังหรือปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา นอกจากศาลต้องให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาแล้ว ยังต้องคำนึงถึงการคุ้มครองความสงบเรียบร้อยของสังคมควบคู่กันไปด้วย ซึ่งในคดีที่มีการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแล้วปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ต้องหาไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจดำเนินการไต่สวนเพื่อให้ทราบว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์เช่นนั้นจริงหรือไม่ และสมควรที่จะเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวหรือไม่ทุกคดีไป 

ในกรณีของนางสาว ท. ศาลนัดไต่สวนเพื่อพิจารณาเรื่องการผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราว
วันที่ 1 มีนาคม 2566 แต่เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 นางสาว ท. และนางสาว อ. ยื่นคำร้องขอยกเลิก
การปล่อยชั่วคราวตนเอง ศาลอาญาจึงมีคำสั่งไปตามที่ผู้ต้องหาประสงค์ เพราะพฤติการณ์ตามข้อเท็จจริง
ที่ปรากฏเข้าเกณฑ์เป็นกรณีผู้ต้องหาแสดงเจตนาว่าไม่อาจปฏิบัติตามเงื่อนไขของการปล่อยชั่วคราว
ตามที่ผู้ต้องหาและผู้กำกับดูแลรับรองกับศาลไว้ได้ อันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่มีขึ้นเพื่อป้องกันภัยอันตราย
หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยชั่วคราวตามกฎหมาย เมื่อมีการยกเลิกการปล่อยชั่วคราว
และศาลมีคำสั่งออกหมายขังแล้ว จึงไม่ต้องมีการไต่สวนอีก 

ศาลยุติธรรมขอย้ำว่า กระบวนการไต่สวนและการมีคำสั่งออกหมายขังหรือปล่อยชั่วคราว
เป็นการใช้ดุลพินิจโดยอิสระของผู้พิพากษา ปราศจากการแทรกแซงใด ๆ ทั้งเป็นไปภายใต้รัฐธรรมนูญ
และกฎหมาย โดยข้อเท็จจริงในลักษณะเดียวกันก็จะมีการพิจารณาดำเนินการไปในแนวทางและมาตรฐานเดียวกันทุกคดี  ทั้งนี้ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปโดยเสมอภาคและเป็นธรรม อันจะดำรงไว้ซึ่ง
หลักความเป็นนิติรัฐและนิติธรรมต่อไป

 


image รูปภาพ
image
image

image เอกสารแนบ